พิธีกรรม

พิธีกรรม
มีการจัดทำพิธี 2 วัน คือ วันแรก (วันโฮม) ขบวนผีตาโขนจะแห่รอบหมู่บ้านตั้งแต่เช้ามืด เป็นการทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตเข้ามาอยู่ที่วัด ในวันที่สองเป็นพิธีการแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมุติให้วัดเป็นเมือง สำหรับวันที่สองของงานนี้ ชาวบ้านยังได้นำบั้งไฟมาร่วมในขบวนแห่เพื่อเป็นพิธีขอฝนโดยแห่รอบวัด 3 รอบ ในขณะที่แห่อยู่นั้นเหล่าผีตาโขนทั้งหลายก็จะละเล่นหยอกล้อผู้คนไปเรื่อย ๆ เพื่อทำให้เกิดความสนุกสนาน หลังจากเสร็จพิธีการแห่แล้วบรรดาผู้ละเล่นผีตาโขนจะนำเครื่องเล่นผีตาโขน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีไปล่องลงแม่น้ำหมัน และในตอนค่ำของวันเดียวกัน จะมีการฟังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์
ผีตาโขน จะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก
        ผีตาโขนใหญ่ จะสานมาจากไม่ไผ่มีขนาดใหญ่กว่าคนประมาณ 2 เท่าแล้วจะประดับตกแต่งหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ในการทำผีตาโขนใหญ่ในแต่ละปีจะทำ 2 ตัวคือชายหนึ่งตัว และหญิงอีกหนึ่งตัวเท่านั้น ผู้ที่มีหน้าที่ทำผีตาโขน ใหญ่จะต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน และเมือได้รับอนุญาต แล้วต้องทำผีตาโขนใหญ่ทุกๆ ปีหรือต้องทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปีเพราะว่าคนที่ไม่ได้รับอนุญาตก็จะไม่มีสิทธิ์ทำผีตาโขนใหญ่ เวลาแห่จะต้องมีคนเข้าไปอยู่ในตัวหุ่น
       ผีตาโขนเล็ก  ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็มีสิทธิ์ทำผีตาโขนเล็กเพื่อเข้าร่วมสนุกสนานกันได้ทุกคน การเล่นของผีตาโขนเล็กค่อนข้างผาดโผนผู้หญิงจึงไม่ค่อยนิยมเข้าร่วม
การแต่งกายของผู้ที่เข้าร่วมในพิธีแห่ผีตาโขน จะแต่งกายคล้ายกันกับผีปีศาจ ที่สวมศีรษะด้วยที่นึ่งข้าวเหนียวหรือว่ากระติ๊บข้าวเหนียวนั่นเอง และใส่หน้ากากที่ทำด้วยกาบมะพร้าวแกะสลัก มีการละเล่นร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานในขบวนแห่